แนวคิดของและหลักการปกครอง ของ หาน เฟย์ จื่อ

หาน เฟย์ เชื่อว่าสังคมและการเมืองได้เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด ดังนั้นวิธีการเดิม ๆ ของ ขงจื้อ (孔子) ที่จะพยายามนำจารีตของโจวมาใช้นั้น ไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ในสมัยนั้นและเป็นสิ่งที่เปล่าประโยชน์ หาน เฟย์ มีความเชื่อเรื่องนึงที่เหมือนอาจารย์ของเขา สวินจื่อ คือ ธรรมชาติของมนุษย์ ชั่วร้ายโดยสันดาน แต่ที่ต่างกับสวินจื่อคือ เขาไม่ได้สนใจที่จะแก้ไขสันดานของมนุษย์ที่เลวร้าย ดังนั้นจึงต้องปกครองด้วย "โทษทัณฑ์และรางวัล" ชาวนิตินิยมมีความเชื่อว่า มนุษย์ทุกคนย่อมหลีกหนีการลงโทษและในขณะเดียวกันก็ไขว่คว้าหาผลประโยชน์ จึงเกิดหลักที่ว่า ลงโทษพฤติกรรมที่ไม่ประสงค์ และให้รางวัลในพฤติกรรมที่ประสงค์ นิตินิยมของหาน เฟย์ นั้น ได้รวบรวมแนวคิดของ เซิ่นเตา (慎到) ผู้ให้ความสำคัญกับอำนาจและสิทธิตามกฎหมาย เซินปู๋ไฮ่ (申不害) ผู้ให้ความสำคัญกับ ศิลปะการใช้คนและซังเอียง ชางยาง (商鞅) ผู้ให้ความสำคัญกับกฎหมายและวิธีการใช้กฎหมาย

ปรัชญาของหาน เฟย์ จื่อ มีศูนย์กลางอยู่ที่ผู้ปกครอง โดยมีทั้งสามอย่างที่ผู้ปกครองจะขาดอย่างใดอย่างนึงไปไม่ได้ในการปกครองบ้านเมือง คือ

  1. ฝ่า (法) กฎหมายและระบบกฎหมาย ปฏิบัติกรณียกิจไปตามก็หมายก็จะเหมือนสวรรค์ คือปฏิบัติต่อทุกคนเท่ากันหมด นี่เป็นหน้าที่ของ 法
  2. ซื่อ (勢) อำนาจ อำนาจบารมีช่วยเพิ่มอนุภาพของพระบัญชาให้น่าเกรงขาม นี่เป็นหน้าที่ของ 勢
  3. ซู่ (术) การใช้คน ใช้คนแล้วยังไม่รู้ว่าทรงใช้อย่างไร ก็จะลึกลับเหมือนทูตผี นี่เป็นหน้าที่ของ 术

หาน เฟย์ กล่าวว่า "กษัตริย์ผู้ทรงพระปรีชาสามารถ ใช้อำนาจจะต้องเที่ยงธรรมเหมือนสวรรค์ ใช้คนจะต้องลึกลับเหมือนทูตผี เที่ยงธรรมเหมือนสวรรค์ก็จะไม่มีใครตำหนิ ลึกลับเหมือนทูตผี ก็จะยากแก่การคาดเดา“ ในการใช้อำนาจ 勢 จะต้องมีการกำกับดูแลอย่างเข้มงวด เพื่อให้การใช้อำนาจมีประสิทธิภาพ ประชาชนจะได้ไม่กล้าฝ่าฝืน แล้วดำเนินการใช้ระบบกฎหมาย 法 ให้ทั่วถึง สามประการนี้เป็น “เครื่องมือของกษัตริย์ที่สำคัญอย่างสูงส่ง ขาดไม่ได้แม้แต่สักอย่าง”

กฎหมาย (ฝ่า 法)

หาน เฟย์ ได้ออกความเห็นว่า การปกครองบ้านเมืองของอริยปราชญ์นั้น ไม่ได้ต้องการให้ประชาชนประพฤติชอบเพราะการอบรมกล่อมเกลา (ต่างจากขงจื้อ) แต่ด้วยการใช้กฎหมายบังคับไม่ให้ประชาชนประพฤติมิชอบ ซึ่งประชาชนทั่วทั้งเมืองสามารถปฏิบัติตามได้ การปกครองนั้นต้องใช้วิธีที่เหมาะกับประชาชนส่วนใหญ่ ต้องละทิ้งวิธีที่เหมาะกับประชาชนส่วนน้อย ดังนั้นจึงไม่สามารถให้ความสำคัญกับการกล่อมเกลาอบรมคุณธรรม แต่ให้ความสำคัญกับการใช้กฎหมายปกครอง หากใช้กฎหมายได้อย่างถูกต้อง ประชาชนจะรู้หน้าที่ว่าอะไรต้องทำ และอะไรทำไม่ได้ กฎหมายจะเป็นตัวปกป้องประชาชนและกษัตริย์จากความผิดพลาด กฎหมายจะเที่ยงธรรมเหมือนสวรรค์ คือ เจ้าฟ้ามหากษัตริย์ก็ไม่อยู่เหนือกฎหมาย กษัติรย์ก็ไม่ผิดต่อเครือญาติ ผู้ใต้ปกครองก็ไม่ลำบากใจเวลาปฏิบัติตามคำสั่งหรือกฎหมาย

อำนาจ (ซื่อ 勢)

มาตราการต่อมาคือ ใช้อำนาจในการตรวจสอบ กษัตริย์ต้องคอยตรวจสอบความประพฤติของประชาชน ลงโทษผู้ฝ่าฝืนกฎหมาย ปูนบำเหน็จความดีความชอบแก่ผู้ปฏิบัติตามกฎหมาย ทำอย่างนี้ก็สามารถปกครองประชาชนให้เรียบร้อยได้ไม่ว่าจำมีจำนวนประชากรมากน้อยเพียงไร ดังนั้น ด้วยกฎหมายและอำนาจผู้ปกครองสามารถปกครองประชาชนได้โดยไม่จำเป็นต้องมีความสามารถหรือคุณธรรมที่สูงส่ง เพราะกฎหมายนั้นไม่เท่ากับคุณธรรม สองสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ขัดแย้งกัน เพราะกฎหมายนั้นมีความแน่นอน แต่คุณธรรมนั้นไม่แน่นอน ความมักขี้สงสารเป็นตัวทำลายกฏเกณฑ์ และความเมตตากับความเด็ดขาดนั้นเป็นสิ่งที่อยู่ร่วมกันไม่ได้

การใช้คน (ซู่ 术)

หาน เฟย์ ได้กล่าวถึงเรื่องการใช้คนว่า กษัตริย์นั้นต้องใช้อำนาจเพื่อตรวจสอบความประพฤติของประชาชน แต่จำทำอย่างไรเพื่อไม่ให้กระทำมากจนเกินไป วิธีแก้คือ กษัตริย์ต้องห้ามทำสิ่งเหล่านี้ด้วยตัวเอง ขอแค่เพียงมี ซู่ หรือศิลปะการปกครอง ก็จะได้คนที่ถูกต้องมาปฏิบัติทุกอย่างแทนพระองค์ โดยเริ่มจากให้ปฏิบัติหน้าที่ให้สอดคล้องกับชื่อของตำแหน่งนั่นก็คือ ทฤษฏีทำชื่อให้ถูกต้อง (เจิงหมิง 正名) หน้าที่ของกษัตริย์คือเอาชื่อเฉพาะชื่อหนึ่ง 名 ใส่ไว้กับคนเฉพาะคนนึง 实 กล่าวคือ เอาตำแหน่งแน่นอนตำแหน่งนึง มอบให้กับคนแน่นอนคนหนึ่ง ซึ่งหน้าที่ของตำแหน่งนี้ต้องถูกกฎหมายกำหนดไว้หมดแล้ว กษัตริย์ต้องไม่สนว่าเขาจะใช้วิธีใดปฏิบัติ ขอเพียงแค่ปฏิบัติหน้าที่สำเร็จด้วยดี ก็ใช้ได้ หากสำเร็จก็ปูนบำเหน็จ หากไม่สำเร็จก็ลงทัณฑ์ เท่านี้ทุกอย่างก็บริบูรณ์